ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory or ELT)
• ที่มา
ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) ถูกพัฒนาโดย David A. Kolb โดย เดวิด เอ. โคล์บ ได้อธิบายไว้ว่า “การเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ กระบวนการสร้างความรู้ ทักษะ และเจตคติด้วยการนำเอาประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมาบูรณาการ เพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้น” หัวใจสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ การได้เจอกับความท้าทายหรือประสบการณ์จริง และเกิดการทบทวนประสบการณ์ หรือการนำสิ่งที่ลงมือทำมาตกผลึกความคิด เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความรู้ใหม่ที่ได้รับ เป็นการนำไปต่อยอดความรู้เดิม สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทอื่น ๆ สำหรับตัวเอง การที่เรามีประสบการณ์ แต่ไม่ได้ตกผลึก ก็เหมือนกับการที่เราเรียนรู้ในแบบเดิม ทำให้ลืมได้ง่าย หรือไม่รู้ว่าควรนำไปปรับใช้ต่ออย่างไร เพราะยังขาดการสรุปประสบการณ์นั้น ๆ ให้กับตัวเอง การใช้ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์จะทำให้เด็กได้ฝึกพัฒนาการเรียนรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การคิดทบทวน เพื่อนำไปปรับปรุงวางแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ความกล้าที่จะแตกต่างเพื่อค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว โดยไม่กลัวความล้มเหลว ความยืดหยุ่นและยอมรับหากต้องผิดหวัง การมุ่งมั่นที่จะลุกขึ้นมาทำใหม่และแก้ไขข้อผิดพลาด ฝึกทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตาม ฝึกการทำงานร่วมกัน เพิ่มพูนความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และพร้อมที่จะเป็นแรงผลักดันเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ในสังคม และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาติและขับเคลื่อนสังคมต่อไป
• วงจรทั้ง 4 ขั้นของทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์
1. การสร้างประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Concrete Experience) ให้ผู้เรียนได้ลองเข้าไปอยู่ในประสบการณ์นั้น ๆ ด้วยตนเอง โดยเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจ และลองเข้าไปเรียนรู้และใช้ประสบการณ์จริง เพื่อนำมาประมวลผลต่อ
2. การสะท้อนการเรียนรู้ หรือ ทบทวนการเรียนรู้ (Reflective Observation) เมื่อผู้เรียนได้ลองเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ได้นำกลับไปทบทวนและประมวลผลสิ่งที่ได้พบเห็นหรือเรียนรู้ ผ่านการวิเคราะห์ด้วยตนเอง หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เพื่อเป็นการตกผลึกการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์โดยตรง
3. การสรุปองค์ความรู้ (Abstract Conceptualisation) เมื่อผู้เรียนได้รับประสบการณ์และได้ลองทบทวนองค์ความรู้นั้นกับความเข้าใจเดิมที่ตนมีแล้ว ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกฝนขั้นตอนการตกผลึกองค์ความรู้โดยการสรุปและนิยามองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ เช่น ผ่านการเขียนภาพมโนทัศน์ (mind mapping) หรือการสรุปการเรียนรู้ผ่าน model หรือ framework เป็นต้น
4. การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้รับ (Active Experimentation) เมื่อผู้เรียนผ่านขั้นตอนการเรียนรู้-ทบทวน-ตกผลึกองค์ความรู้ที่ได้รับมาแล้ว ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ผู้เรียนจะได้ใช้ทักษะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รวมไปถึงได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดโดยใช้กรอบความคิดที่ตนเองได้ตกผลึกจากประสบการณ์จริง
• การประยุกต์ใช้
การเรียนรู้จากประสบการณ์ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของผู้เรียน โดยการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นได้จากการสังเกตสิ่งรอบตัว และผู้เรียนนำมาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง หรือนำไปปรับใช้ เป็นการตกผลึกความคิด ทำให้ความรู้ที่ได้คงอยู่นานกว่าการเรียนแบบทั่วไปโดยขาดการตกผลึกความคิด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดช่วงชีวิตของผู้เรียน ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับผ่านการสังเกตสิ่งรอบตัว มาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์เดิม ก่อให้เกิดทักษะเพื่อพัฒนาชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรที่มีภูมิหลังด้านเกษตรกรรม นำความรู้ที่ได้จากการเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการเกษตร มาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์เดิม ทำให้เกิดความรู้และเทคนิคในการทำเกษตรที่ดีขึ้น
โดย นิรินทนา พลกลาง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น